20 มกราคม 2564

The Executive Talk: PTT Global Chemical PCL (SET:PTTGC) (CAN newswire)

ปัจจุบัน GC มีกลยุทธ์อย่างไรในการดำเนินธุรกิจ และเหตุผลใดที่เลือกขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น

กลยุทธ์ของ GC เน้น 3 เรื่องหลัก ๆ เรื่องแรก เรียกว่า “Step Change” คือ การทำบ้านเราให้แข็งแรง ด้วยการเปลี่ยนหรือปรับไปสู่ธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนธุรกิจถูกลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยธุรกิจต้องมีทั้งความกว้างและความลึก

ซึ่งความกว้างและลึกนี้ หมายถึง การที่เรามีสายการผลิตตั้งแต่ต้นทาง (Upstream) ไปจนถึงปลายทาง (Downstream) โดยสามารถนำไปต่อยอดเป็นเคมีภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์สื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ธุรกิจก่อสร้าง พลาสติกเชิงวิศวกรรม อุปกรณ์ ทางการเกษตร รวมทั้งเป็นแนวทางที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ตลอดจนสามารถขยายผลิตภัณฑ์และต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

กลยุทธ์ถัดมา “Step Out” โดย GC เป็นผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมีรายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia: SEA) มีฐานการผลิตในต่างประเทศ 12 แห่งทั่วโลก และเนื่องจากต้องการสร้างธุรกิจที่เป็นระดับโลกจริง ๆ จึงเริ่มลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งในกลยุทธ์ Step Out นี้ได้ให้น้ำหนัก 2 เรื่อง คือ การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition หรือ M&A) กับกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ เพื่อทำให้มี Footprint ในระดับโลก และการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็นธุรกิจดั้งเดิม เช่น ที่ รัฐโอไฮโอ (Ohio) ซึ่งมีวัตถุดิบผลิตโพลิเมอร์ราคาถูก

กลยุทธ์ที่ 3 คือ “Step Up” เน้นเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development: SD) โดย GC ต้องการให้ ด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่เป็นการทำเพียงแค่ CSR (Corporate Social Responsibility) ทั้งนี้ กลยุทธ์ Step Up นั้นมีหลายมิติ โดยในด้านของ Scale GC ได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในระดับประเทศหรือระดับโลก และทำใน Scope ที่กว้างขึ้น ผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้คนตระหนักรู้ โดย GC คำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ การบริหารจัดการ การคัดแยกและขนส่ง การหมุนเวียน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เป็น Mechanical Recycle อย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้เข้าสู่ Chemical Recycle มากขึ้น นับเป็นการ Step Up ทั้งในด้าน Scale และ Scope

ผลจากความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ล่าสุด GC ได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) เป็นอันดับที่ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemicals Sector) และยังติดอันดับ Top 10 ประเภทดัชนีโลก (DJSI World) และตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการสนับสนุนและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ของโลก และเป็นสิ่งที่ GC ยึดถือและดำเนินการอย่างเข้มข้นและยาวนาน

ไม่เพียงเท่านั้น GC ยังเป็นบริษัทไทยรายแรกและรายเดียว ที่ได้รับผลการประเมินในระดับ A (Leadership Level) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) ภายใต้กรอบการประเมินของสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก Carbon Disclosure Project (CDP) ประจำปี 2563

เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าประสงค์ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ตลอดถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สะท้อนถึงการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขต 1 และ 2) ลงร้อยละ 20 จากการดำเนินธุรกิจตามปกติภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2555) โดยมีการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และมีแผนขยายขอบเขตการดำเนินงานสู่โซ่คุณค่า (Scope 3) อย่างบูรณาการ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management) อย่างบูรณาการทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าว สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล

GC มีแนวทางอย่างไรที่ทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน

เราต้องเพิ่ม Quality of Earnings ที่ผ่านมาฐานรายได้หลักของเรามาจากกลุ่ม Commodity เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ GC ได้วางแนวทางที่จะมีผลประกอบการในปี 2573 ที่จะเพิ่มด้าน High Value Product, Performance Product และ Green Chemical เข้าไป โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนของกำไรในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็น 20% ของ กำไรทั้งหมดของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินจะดูที่ความยั่งยืนมากกว่า ถ้าผู้ถือหุ้นจะมองในแง่ระยะสั้นอาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก เราอยากให้ผู้ถือหุ้นโตไปกับเรา มี Capital Gain ที่สามารถปันผลและสู้กับตลาดได้ตลอดเวลา ดังนั้น Quality หรือ Stability จึงมีความสำคัญกว่า โดยกลุ่มธุรกิจปลายน้ำจะผันผวนน้อยกว่าและมี EBITDA Margin อยู่ที่ 10% กว่า ๆ แต่จะไม่ลดลงไปถึงเลขตัวเดียว

แนวโน้มของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอย่างไร

คำว่าปิโตรเคมี ถ้าเรามองฝั่ง Commodity ผมมองว่า อาจจะมีการ Over Supply บ้าง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์แต่ละตัว แต่เท่าที่ประมาณการเชื่อว่า ทุกอย่างน่าจะดีกว่าปีนี้ โดยรวมแล้ว ผมคิดว่า จุดต่ำสุดจะเป็นไตรมาสที่ 2 ถึง ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ที่ Demand ทุกอย่างหดหาย ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งคิดว่า ปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้พอสมควร

อะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ GC แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในแง่ของผลิตภัณฑ์ แม้เราจะดีกว่าในหลายจุด แต่ก็ยังมีคนอื่นที่ดีกว่าเราด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อดีของเราซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งเลยคือ เรื่องความยั่งยืน ที่เราได้รับเลือกจาก DJSI ให้เป็นอันดับที่ 1 ของโลกในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemicals Sector) เพราะ นอกจากเราได้ลดต้นทุนลง เพราะได้ปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อเรื่องต้นทุนในอนาคต แม้วันนี้อาจจะยังไม่ได้เห็นภาพมากนัก แต่เมื่อถึงเวลาที่กฎหมายในด้านนี้ถูกนำมาใช้ เราก็พร้อมกว่าคนอื่น ๆ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพราะคู่ค้าระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะที่คู่แข่งหลายรายยังไม่มีหรืออาจจะทำได้ไม่ดีเท่าเรา จึงนับเป็นโอกาสของเรา เช่นเดียวกัน บางครั้งลูกค้าต้องการจะมาหาเรา เพราะเราทำเรื่องความยั่งยืนไว้มาก และนักลงทุนก็ให้ความสนใจในเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน

ความท้าทายสูงสุดในปัจจุบันที่ทั้ง GC และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องเผชิญ

ความท้าทาย คือ เมื่อมีคนเริ่มสงสัยว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังดีต่อไปหรือไม่ หลายคนอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงความต่างระหว่างธุรกิจน้ำมันกับปิโตรเคมีอย่างชัดเจน ในแง่ธุรกิจน้ำมันมักถูกมองว่า Return On Capital ก็ดูจะถดถอย แต่ในส่วนของปิโตรเคมี ถ้าบริหารจัดการ Portfolio ให้ดี ผมคิดว่า อุตสาหกรรมนี้ไปได้และมีอนาคตที่ดี เพราะปิโตรเคมีต่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนอยู่เสมอ

ฉะนั้นความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรที่จะรักษาหรือสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยบริหารต้นทุนฝั่ง Commodity ให้ถูกลง แต่ฝั่งกลุ่มธุรกิจใหม่ต้องสามารถไปรองรับหลากหลายอุตสาหกรรมได้ เช่น รถ EV การก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ เราเชื่อว่า ความท้าทายไม่ได้แตกต่างจากอดีตที่เคยเจอมา ที่ต่างอย่างเดียวคงจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

มองว่า GC ในอีก 5 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร

ความแข็งแรงต้องเริ่มจากข้างใน เราจึงให้ความสำคัญเรื่องTransformation โดยดำเนินการเรื่อง Organization Transformation และ Digital Transformation ไปพร้อมๆกัน ซึ่งแม้ปัจจุบันเรายังไม่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption แต่ผมมองว่า ต้องเริ่มทำแล้ว เพื่อการเติบโตในอนาคต เช่น การลดต้นทุน ปรับระบบการทำงานให้ทันสมัย โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้น อนาคตองค์กรของเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง เช่น การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าไปได้มากพอสมควร เพราะเราทำเร็วและทำจริง ซึ่งเราได้เริ่มไปบ้างแล้ว และต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้ง เราต้องปรับ Portfolio ของผลิตภัณฑ์ให้แข็งแกร่ง หรือมี Quality of Earning ต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึง การลงทุน ที่เราจะไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเราวางเป้าหมายในระยะยาวว่าจะมีกำไรจากธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันที่ประมาณ 10%

source: https://acnnewswire.com/press-release/english/64040/

บทสัมภาษณ์ผู้บริหารอื่นๆ