การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กำหนดแนวปฏิบัติและการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้สอดคล้องกับหลักการสากลของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD)
รวมทั้งแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมหลักการสำคัญใน 5 หมวด ดังนี้
สิทธิของผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น และได้กำหนดเป็นนโยบายและเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ของบริษัทฯ ส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตนในเรื่องต่างๆ ที่สมควรได้รับ ทั้งสิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย และสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ สิทธิในการเสนอระเบียบวาระการประชุมผู้ถือหุ้น เสนอชื่อบุคคลที่สมควรเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทฯ และการส่งคำถามล่วงหน้าก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ตลอดจนสิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการใช้สิทธิดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ
การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลให้บริษัทฯ มีการปฏิบัติและปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่าง เท่าเทียมกันและเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ อันได้แก่ กำหนดให้มีการใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่และรายย่อยในการประชุมผู้ถือหุ้น กำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียม รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการขัดแย้งของผลประโยชน์ หรือการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ ตนเอง และผู้อื่นโดยมิชอบ การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ถือหุ้น
การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดนโยบายให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่มีตามกฎหมาย หรือข้อตกลงที่มีกับบริษัทฯ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับถือปฏิบัติ ดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดี ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงทางการเงิน ความแข็งแกร่งของกิจการ การรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (รายละเอียดนโยบาย/การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบแสดงในจรรยาบรรณธุรกิจ หน้า 46)
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
คณะกรรมการบริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและน่าเชื่อถือ โดยได้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้การจัดทำและการเปิดเผยข้อมูล ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงิน และที่ไม่ใช่ทางการเงิน ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) อย่างเพียงพอ เชื่อถือได้ ทันเวลา และเป็นไปตามกฏหมาย รวมทั้งนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยข้อมูลที่เปิดเผยจะต้องจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบมีความชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ ด้วยภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย มีการเปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เกิดความมั่นใจและได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ตามข้อกำหนด กฎหมาย ข้อบังคับบริษัทฯ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ อาจมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือฝ่ายจัดการดำเนินการแทนได้ตามแต่กรณี
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนมั่นใจได้ว่า บริษัทฯ โดยคณะกรรมการมีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ทิศทาง และกลยุทธ์การดำเนินงาน มีระบบการติดตาม วัดผล และกำกับดูแลการบริหารงานของผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ รับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องต่างๆ ดังนี้
5.1 รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการพิจารณารายการที่มีหรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ระหว่างผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอนุมัติของผู้ถือหุ้น ให้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวเป็นธรรม มีความสมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น และเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของ ก.ล.ต.
- คณะกรรมการบริษัทฯ ดูแลให้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดด้วยความรอบคอบภายในหลักการของเหตุผลและความเป็นอิสระต่อกัน มีกระบวนการที่โปร่งใสในการอนุมัติเข้าทำรายการ และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ อย่างครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.
- ผู้มีส่วนได้เสียจะไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจในการพิจารณาเข้าทำรายการ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ทุกครั้ง ประธานกรรมการบริษัทฯ จะเป็นผู้แจ้งต่อที่ประชุมขอความร่วมมือให้กรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตามนโยบายในการพิจารณารายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ โดยให้กรรมการบริษัทฯ แจ้งต่อ ที่ประชุม เพื่องดออกเสียงหรืองดให้ความเห็นหรือออกจากที่ประชุมในระเบียบวาระที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
- คณะกรรมการบริษัทฯ กำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนในแบบ 56-1 One Report
5.2 การบริหารความเสี่ยง
- คณะกรรมการบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและความมั่นคงให้แก่กิจการ อย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จดังกล่าว จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ในระดับคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อกำหนดนโยบาย ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และกรอบการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทฯ และเสนอแนะแนวทางให้การบริหารความเสี่ยง รวมทั้งจัดให้มีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญต่างๆ ของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
- คณะกรรมการบริษัทฯ สอบทานให้มีการปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ สอบทานการรายงานการบริหารความเสี่ยง และติดตามความเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอและเหมาะสม
5.3 ระบบควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน
- คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญและจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน และความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และนโยบาย รวมถึงเรื่องการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน โดยจัดตั้ง สายงานตรวจสอบภายในซึ่งมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่สอบทานความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทฯ ตามลำดับ
- คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาทบทวนความเหมาะสมและความเพียงพอของระบบควบคุมภายในทั้ง 5 องค์ประกอบ คือ สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment) การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) กิจกรรมการควบคุม (Control Activities) ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication) และการติดตาม (Monitoring) เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทฯ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง
- คณะกรรมการบริษัทฯ จัดให้มีระบบที่เป็นทางการและโปร่งใส ในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ตรวจสอบภายนอกและภายใน โดยกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ในการสอบทานการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทในกลุ่ม และให้ความเห็นที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรมต่อระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
- ผู้สอบบัญชี จะต้องยืนยันความเป็นอิสระของตนต่อคณะกรรมการตรวจสอบทุกปีและรายงานวิธีการสอบทานงบการเงินที่ใช้อยู่ในสำนักงานสอบบัญชีของตน รวมทั้งนำเสนองานบริการประเภท NAS (Non-Assurance Service) ให้คณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบก่อนให้บริการ เพื่อให้ความมั่นใจต่อความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีภายนอก
- ผู้สอบบัญชี มีสิทธิที่จะสอบทานรายงาน หรือรายงานทางการเงินอื่นที่คณะกรรมการบริษัทฯ ออกควบคู่กับงบการเงินที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว และมีสิทธิที่จะรายงานความผิดปกติในรายงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับงบการเงินที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว
- ค่าธรรมเนียมสอบบัญชีและค่าธรรมเนียมอื่นที่จ่ายแก่ผู้สอบบัญชี มีการเปิดเผยไว้ในแบบ 56-1 One Report เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี